การฝึกฝนปฏิบัติในเกมชีวิต

ธรรมะธรรมจักรกึ่งพุทธกาล วันที่ 15เมษายน 2565
บทที่ 90**การฝึกฝนปฏิบัติในเกมชีวิต**
+ +

ในเช้าของวันที่15เมษายน พ.ศ. 2565 ณ มหาวิชชาลัยธรรมิกราช
เมื่อท่านพระพุทธเจ้าน้อยได้กราบนอบน้อมเข้าเฝ้าต่อองค์พระพุทธบิดา องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ท่าน เพื่อเฝ้าฟังธรรมแล้ว จึงได้นอบน้อมเฝ้าทูลถามพระพุทธองค์ท่านไป ดังนี้…

“ ข้าแต่องค์พระพุทธบิดา องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เจ้าขา..
วันนี้ลูก จะขอต่อยอดการเรียนรู้ เรื่องของเกมชีวิต ด้วยการเริ่มปฏิบัติฝึกฝน
ให้ตนได้เข้าถึงได้เห็นด้วยตนเอง – ตามเส้นทางคำสอนของพระพุทธองค์ น่ะเจ้าค่ะ

ขอพระพุทธองค์โปรดทรงเมตตาแสดงธรรมนี้ ให้ลูกได้ฟังในเรื่องนี้ด้วยเถิดพระพุทธเจ้าค่ะ ”
– – – –

พระพุทธองค์ :: ดีแล้วละนะ พระพุทธเจ้าน้อยเอย..
ถ้าอย่างนั้น ก็จงทำใจให้ว่าง ให้สงบ ให้สบาย
ผ่อนคลายความรู้สึกนึกคิด ความกังวลต่างๆทิ้งไป

ทำจิตว่างๆ สบายๆ
ปล่อยวางทุกสิ่ง ปล่อยวางทุกอย่าง
วางจิตของตนให้ว่าง ให้เป็นกลาง
แล้วจึงค่อยๆ พิจารณาธรรมดังต่อไปนี้..

เมื่อลูกทั้งหลาย.. ได้เรียนรู้ศึกษา ทำความเข้าใจแล้วว่า
กฎกติกาของการที่ลูกนั้นจะดำเนินประพฤติปฏิบัติ
— เพื่อให้ลูกเป็นผู้ออกจากเกมได้
เป็นผู้ชนะในเกมได้ – ตามรอยองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
– ด้วยธรรมคำสอน
– ด้วยแนวทางที่องค์พระพุทธเจ้าได้วางเอาไว้ให้

ลูกได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจถึงสิ่งเหล่านี้แล้ว..
ลูกก็จงน้อมเข้ามาสู่ตน — ด้วยการฝึกฝนประพฤติปฏิบัติ

พระพุทธเจ้าน้อยเอย..เมื่อรู้ เมื่อเข้าใจกฎเกณฑ์ของวัฏสงสาร กฎเกณฑ์แห่งเกมชีวิตแล้ว
ธรรมในบทนี้ ก็คือ
ลูกทั้งหลาย.. จะต้องเริ่มต้นด้วยการเริ่มปฏิบัติฝึกฝนตน – ให้เห็นผลได้ด้วยตน
ให้ดำเนินไปตามเส้นทางที่องค์พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ให้
ให้รู้ ให้เข้าใจ

พิสูจน์ให้ได้ด้วยตัวของลูกเอง
— เพื่อจะได้รู้ จะได้เข้าใจรายละเอียดมากเพิ่มมากขึ้น
… จะได้แน่ใจว่า ทำแล้วก่อเกิดผลได้ อย่างแท้จริง++

โดยที่เริ่มที่ ธรรมประการที่ 1 — ก็คือ
ลูกทั้งหลาย.. จงฝึกฝนประพฤติปฏิบัติเริ่มต้น จากการรักษาศีล
ลูกนั้น..
จะต้องเริ่มรักษาศีลอยู่ในกรอบของศีล
ทำความเข้าใจในเรื่องของศีล
และฝึกฝนไป จนเห็นผลในการรักษาศีล เป็นลำดับๆไป..

ลูกนั้น.. จงทำจนกว่าลูกนั้นจะมีศีลประจำอยู่ในใจของลูก
โดยเป็นจิตสำนึก เป็นวิสัยที่ลูกนั้นทำเป็นปรกติ เป็นธรรมดา
… ตั้งแต่กรอบของศีล 5 ขึ้นมา..
— นั่นก็ใช้ได้ +

และลูกนั้น.. ก็จงฝึกฝนเรียนรู้ ทำความเข้าใจ ด้วยการหมั่นฟังธรรม
ฟังธรรม พิจารณาธรรม และศึกษาให้เข้าใจมากเพิ่มขึ้น
ธรรมที่ได้ฟังนั้น ละเอียดขึ้น เราก็ยังเข้าใจ
และทำความเข้าใจถึงธรรมทั้งหลาย..
ต่อยอดการเรียนรู้เข้าใจในธรรมให้ละเอียดยิ่งขึ้นไป
จนรู้แจ้ง เข้าใจในธรรมทั้งหลาย.. ที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงชี้บอก

ฝึกฝนให้ตน เป็นผู้รู้แจ้งในธรรม
และลูกทั้งหลายนั้น.. ก็ควรที่จะเริ่มต้นด้วยการทำสมาธิ
เริ่มฝึกสมาธิให้จิตของลูกนั้น.. ตั้งมั่น สงบ สว่างไสว

ฝึกให้จิตของลูก ทรงพลัง เกิดพลังขึ้นมา และฝึกทะลวงจิต
ฝึกให้จิตของลูกนั้น.. เข้าถึงความสงบภายในของจิต
ฝึกจิตของลูก ให้ทรงพลังจิต ให้จิตรู้ตื่น
ฝึกสมาธิ ให้เป็นลำดับๆไป
— ให้ลูกทั้งหลาย.. เข้าใจ เข้าถึงการทำสมาธิ – ให้ละเอียดยิ่งขึ้น เจริญยิ่งขึ้นไป

ลูกทั้งหลาย.. จงฝึกฝนตน ให้ก่อเกิดปัญญา
และให้เป็นปัญญาที่เกิดขึ้นภายในดวงจิต
เกิดขึ้นอย่างผู้รู้ตื่น
— จึงใช้ได้ จึงเรียกว่า ปัญญาที่แท้จริง +

โดยไม่เกี่ยวกับความคิด ไม่เกี่ยวกับระบบของสังขารที่อยู่ในขันธ์ทั้ง 5 กองนั้น
แต่เป็นปัญญาที่รู้ตื่น รู้แจ้งตามความเป็นจริง อันเกิดจากจิตอันรู้ตื่น

เข้าใจในปัญญาธรรมแจ่มแจ้ง
ฝึกฝนจนชัดเจนแจ่มแจ้งยิ่งๆขึ้น
ให้ปัญญาธรรมนั้น..เกิดขึ้น เจริญในตัวของลูกให้มากขึ้น ยิ่งๆขึ้นไป

ฝึกให้ได้ ทั้ง 4 ย่างก้าวนี้ คือ ศีล ธรรม สมาธิ และปัญญา
ฝึกให้ก่อเกิดผลในตน
ฝึกให้ ศีล ธรรม สมาธิ ปัญญานั้น.. เจริญขึ้นยิ่งๆขึ้นไป
จนกว่าจะตั้งมั่นอยู่ในตัวของลูก
— เช่นนี้ อย่างนี้ ก็เป็นว่าใช้ได้ +

ฉะนั้น.. จงตั้งใจดำเนิน ประพฤติปฏิบัติอยู่บนกรอบของมรรค 8
หรือศีล ธรรม สมาธิ และปัญญา-ให้เกิดผล เห็นผล ตามลำดับไป

นี่คือ สิ่งที่ลูกทั้งหลาย..ต้องเริ่มทำ ลงมือทำ
เริ่มปฏิบัติอย่างตั้งใจ อย่างแท้จริง
ทำให้เกิดผล เห็นผลได้ด้วยตน
พิสูจน์ธรรมคำสอน และทางพ้นทุกข์ การออกจากเกมให้ได้
— ด้วยการฝึกฝนปฏิบัติตาม —

ต่อไป ธรรมในประการที่ 2 —
เมื่อลูกทั้งหลาย.. ฝึกฝนด้วยศีล ธรรม สมาธิ ปัญญา
จนเข้าถึงความละเอียดภายในแล้ว..

ลูกก็จะเห็นจิตของลูก
จะเริ่มเป็นผู้ที่เห็นจิต เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นธรรม
จะเริ่มเป็นบุคคลผู้ที่สามารถแยกจิตออกจากกาย จากเวทนา จากธรรมได้แล้ว

ทีนี้ ก็จงต่อยอด ฝึกฝนจิตของลูกนั้น.. ให้เกิดความแกร่ง ความตั้งมั่น ความรู้ตื่น
เช่น การ..
ฝึกจนจิตนั้นสว่างไสว ตั้งมั่นอยู่ที่ศูนย์กลางกาย
ฝึกจนสามารถทะลวงเข้าไปในจิต ชำระกิเลสภายใน
ฝึกจนจิตนั้นสามารถเข้าสู่กระแสแห่งพระนิพพาน
ชาร์จพลังจนเต็ม – จนเป็นดวงแก้วที่สว่างไสว
จนรวมเป็นองค์พระแก้ว
เป็นองค์พระแก้ว – ที่ซ้อนด้วยดวงแก้ว
เป็นดวงแก้ว – ที่ซ้อนด้วยองค์พระแก้ว

และชาร์จพลังให้เต็มกำลังไป จนกว่าจิตนั้น.. จะแตกสลาย กลับสู่อากาศธาตุ
เข้าสู่ความว่าง และรวมพลังกลับมา

มีองค์พระแก้วองค์เล็กๆ เป็นผลึกของจิต หรือจิตที่แตกผลึกออกไป แต่ละชิ้นเล็กๆนั้น..
— ก็กลายเป็นองค์พระเล็ก ที่รวมกันมาอยู่ในองค์พระแก้วใหญ่

ฝึกวิชาของจิต จนถึงซึ่งการฝึกอันสูงสุดของจิต
ให้จิตรู้ตื่น ตั้งมั่น
ฝึกให้สำเร็จเช่นนี้ ทำจิตให้รู้ตื่นเช่นนี้

ลูกทั้งหลาย.. เมื่อฝึกฝนตนจนถึงจุดนี้แล้ว ก็จงฝึกฝนตนต่อไป ด้วย
ธรรมประการที่ 3 –คือ

ใช้จิตที่รู้ตื่นแล้วนั้น.. มาพิจารณาให้รู้ตัวรู้ตนของตน
รู้ว่า แท้ที่จริงตัวเรานี้
ก็คือดวงจิตคือ กิเลส กรรม และกาย – มาประชุมชุมนุมกัน
จึงเรียกว่าเรา เป็นตัวตนของเรา

แท้ที่จริงแล้ว..ดวงจิตของเรานี้ เวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารนี้มายาวนาน
มีกรรมของตน ที่เคยทำไว้ในอดีตกาลก่อน- ส่งผลมาอย่างไร
ทำไมเราจึงมาเกิดในที่แห่งนี้
แล้วเรามาเพื่อสิ่งใด มาเพื่ออะไร เพราะอะไร

กรรมที่เราเผชิญผ่านพ้นเหล่านี้ คือ วิบากกรรมด้วยเรื่องอะไร- ส่งผลมา
เราจะแก้ไขอย่างไร
จะทำแบบไหน.. ให้ดำเนินต่อไปได้…

ดวงจิตของเรานี้ มีวิบากกรรมใด – เป็นอุปสรรคปัญหา
กิเลสตัวใด – เป็นตัวที่มีพลังอำนาจต่อจิตของเรา มากที่สุด

จริตวิสัยแห่งการประพฤติปฏิบัติของเรานั้น.. เป็นแบบไหน
เราเดินอยู่บนเส้นทางแห่งการปฏิบัติ ในสายของพระอรหันต์สาวก
… แล้วเป็นพระอรหันต์สาวกในสายใด ? ตั้งแต่..
สุกขวิปัสสโก
เตวิชโช
ฉฬภิญโญ
ปฏิสัมภิทัปปัตโต
— เราอยู่ในสายไหนของทั้ง 4 สาย —

เรานี้ ประพฤติปฏิบัติฝึกฝนตนอยู่บนเส้นทางของการเป็นจอมอรหันต์หรือเปล่า
คือ เป็นอรหันต์ที่ต้องสอนผู้อื่น.. ให้เข้าถึงการเป็นอรหันต์ด้วยหรือเปล่า

ก็ลองพิจารณาให้เห็นเส้นทางของตน
— เพื่อรู้ เข้าใจในตัวตนของตน เส้นทางชีวิตของตน —
ทั้งที่มาแล้ว และที่กำลังจะไป…

หรือลองพิจารณาให้รู้ตัวรู้ตนของตนว่า..
ตนนี้.. ดำเนินปฏิบัติ อยู่บนเส้นทางแห่งการสั่งสมบารมี
เพื่อเข้าสู่การเป็นองค์พระปัจเจกพุทธเจ้า

เข้านิพพาน ในเส้นทางแห่งองค์พระปัจเจกพุทธเจ้า
หรือเข้านิพพาน ในเส้นทางแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย
— ซึ่งเรากำลังบำเพ็ญบารมีอยู่

ก็ให้รู้ตัวรู้ตน รู้เส้นทางของตน
รู้ว่า เรามาจากไหน มาทำอะไรที่นี่
และกำลังจะไปไหน
… เช่นนี้ เป็นต้น ลูกเอ๋ย

ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัย ทำให้เรานี้.. เป็นบุคคลผู้ที่สามารถทำเส้นทางของตน ได้ดี ได้ถูกต้อง
ดำเนินอยูบนเส้นทางของตน — จนถึงซึ่งความสำเร็จเป็นขั้นๆไป ++

เช่นนี้ละ พระพุทธเจ้าน้อยเอย..
จิตที่รู้ตื่นของเราได้ก่อเกิดขึ้นแล้ว
ใช้จิตที่รู้ตื่นนั้น.. มารู้ตัวรู้ตน รู้หนทางแห่งตน แล้วก็ดำเนินต่อไป..
— จนกว่าเรานี้.. จะเข้าใจสภาวธรรมเส้นทางแห่งชีวิต ที่ไปที่มาของเรา ++

ต่อไป ธรรมในประการที่ 4 —
และลูกก็จงฝึกฝนให้ลูกนั้น.. เห็นสภาวะการขับเคลื่อน การกระเพื่อม
สิ่งที่เป็นไป สิ่งที่ดำเนินอยู่ในตัวของลูก – ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ก็คือเห็นจิตของลูก ว่า..
– ตั้งมั่นอยู่ สงบอยู่
– สว่างอยู่ หรือว่าฟุ้งซ่านอยู่
– มีคลื่นกิเลสตัณหาใดคลุมอยู่
— เรานี้ต้องแก้ไข แบบไหน ยังไง ?

เห็นจิตของลูกตั้งมั่น สงบ สว่าง
เห็นความรู้สึกนึกคิด
เห็นสภาวะที่เป็นของจิตนั้น ว่าเป็นแบบไหน เป็นยังไง

คือ ดูจิต เห็นจิต
เห็นจิตที่ตั้งมั่น
เห็นจิตที่กระเพื่อมตามกิเลส อยู่เหนือกิเลสแล้ว หรือเป็นเช่นไร
… ก็จงเห็นจิตนั้น อย่างชัดเจน

ไม่ว่าเราจะได้รับผลกระทบอะไร
ไม่ว่า จะเจอกับปัญหาใด
จะเป็นเรื่องดี- จะเป็นเรื่องไม่ดี..

ให้รู้ทัน รู้ตามจิตของเราว่า..
จิตของเรานั้น เป็นแบบไหน

และจนรู้ว่า..
บัดนี้ จิตของเราแข็งแกร่งมากพอแล้ว
มากพอจนสามารถต้านทานต่อบททดสอบ / ต่อสิ่งทดสอบต่างๆ / ต่ออำนาจแห่งกิเลสตัณหา
จิตของเราแกร่งพอแล้ว..

คือ ไม่ใช่แค่จิต ปราศจากกิเลส
— แต่ให้จิตแข็งแกร่งพอที่จะต้านกิเลสตัณหาและอยู่เหนือมันได้ด้วย ++

เช่นนี้ละ พระพุทธเจ้าน้อยเอย..
จงฝึกฝนจนกว่า จะเห็นจิตตั้งมั่นเช่นนี้

และในธรรมประการที่ 5 –ก็คือ
ลูกนั้น จงฝึกให้เห็นกายอย่างชัดเจน
เห็นกาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
เห็นกาย คือ ธาตุ 4 – ดิน น้ำ ลม ไฟ
เห็นกาย คือ อาการ 32 ที่เป็นอยู่ในกายของเรานี้
เห็นความไม่เที่ยง
เห็นความไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา
เห็นการแตกดับที่เกิดขึ้นแล้วในกายนี้
… จนคลายความยึดติดในกายได้ทั้งหมด..

เพียงแค่เห็นเขาดำเนินไปตามหน้าที่ของเขา
เห็นเขาดำเนินตามเหตุที่ยังมีเหตุอยู่ – เท่านั้นเอง

— ก็ถือว่าลูกนั้น ฝึกฝนจนถึงขั้นที่ ใกล้เข้าสู่ความพ้นทุกข์ขึ้นเรื่อยๆ

ต่อไป ธรรมในประการที่ 6 —
ลูกนั้น จงฝึกจนเห็นกิเลสที่กระเพื่อม กระทบเข้ามา
เห็นกิเลสที่แอบซ่อนอยู่ในตน
เห็นกิเลส เห็นตัณหา สิ่งต่างๆทั้งหลาย.. กระเพื่อมอยู่ภายนอก กระเพื่อมอยู่ภายใน
ทำงานแบบไหน ทำงานยังไง
คลื่นสภาวะแห่งกิเลสเข้าครอบงำจิตแล้ว.. เป็นเช่นไร
สลัดออกยังไง

จนกว่าลูกนั้น จะเห็นกิเลสเหล่านั้น เพียงสักแต่ว่า
เห็นกิเลสเหล่านั้นอยู่เพียงภายนอก
— ไม่สามารถกระทบเข้ามาภายในได้ —

จิตตั้งมั่นอยู่เหนือกิเลส เห็นเป็นธรรมดา
รู้ เข้าใจ ตามเหตุ

— เช่นนี้ละ พระพุทธเจ้าน้อยเอย..จึงจะใช้ได้ +

ต่อไป ธรรมในประการที่ 7 — ก็คือ
ลูกทั้งหลาย.. จงฝึกรู้ ฝึกเห็นกรรม
ฝึกให้เห็นกรรมที่เกิดขึ้นในตัวของเรา
กรรมเก่าส่งผลกรรมใดมาบ้าง ทั้งดี ไม่ดี.. เห็นเป็นธรรมดา

สิ่งใดไม่ดี – ก็ชดใช้ไป
เราทำเหตุไว้ – จึงได้รับผล

สิ่งใดที่เป็นกรรมดี — เราก็น้อมรับเข้ามา ต่อยอดไป
— แต่อย่าลุ่มหลง ในสิ่งที่เป็นผลจากกรรมดีเหล่านั้น..
เพียงแต่เราต้องต่อยอดความดีต่อไป เท่านั้น ++

เห็นกรรมทั้งดี และไม่ดี ส่งผลมา.. เห็นเป็นธรรมดาเช่นนั้น
เห็นกรรมปัจจุบันที่ตนทำอยู่ ว่า ตนทำกรรมนี้ไป — จะก่อให้เกิดผลอะไรขึ้นบ้าง
เราก็ดู ก็รู้ ก็เห็น
และดำเนินไป – ควบคุมกรรมปัจจุบัน ไปด้วย..

แล้วทุกสิ่ง.. ก็จะดำเนินไปตามระบบผลกรรม — โดยเป็นไปตามกฎธรรมชาติ
เรานี้.. อยู่เหนือทั้งกรรมดี และกรรมไม่ดี

ฝึกฝนตน ปฏิบัติตน..จนเข้าใจกฎกรรม จนอยู่เหนือกฎกรรม กฎเกณฑ์ทั้งหลาย
อย่างผู้ที่รู้ตื่น เบิกบานแล้ว

เช่นนี้ละ พระพุทธเจ้าน้อยเอย..เมื่อลูกทั้งหลาย.. เริ่มต้นฝึกฝน ด้วยการ
รักษาศีล ฟังธรรม
ฝึกฝนสมาธิ และฝึกฝนปัญญา

เมื่อลูกทั้งหลาย.. ดำเนินอยู่บนเส้นทางแห่งมรรค 8
ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ
… จนเห็นผลมากขึ้นเรื่อยๆ เจริญขึ้นเรื่อยๆ..

ลูกก็จะเห็นจิต
พอเห็นจิตแล้วก็ฝึกจิตให้รู้ตื่น ตั้งมั่น
ให้จิตนั้น.. เป็นผู้ที่เข้าถึงความทรงพลังความรู้ตื่น อันสูงสุดแห่งจิตอันเป็นพุทธะ

แล้วกลับมาพิจารณา — โดยการอาศัยความรู้ตื่น และพลังของจิตนั้น..
/ พิจารณาให้เห็นตัวตน
/ รู้ที่ไปที่มาของตน
/ รู้ความเป็นเรา ว่า คือจิต คือกิเลส คือกรรม และคือกาย
/ รู้ว่า เรานี้มีที่ไปอย่างไร ที่มาอย่างไร
/ เรานี้มาจากไหน เป็นใคร และจะไปทางไหน

ฝึกให้รู้ ให้เข้าใจในเส้นทางของตน เช่นนี้ แล้วก็ดำเนินไปตามเส้นทาง

และฝึกจน..
เห็นจิต
เห็นการตั้งมั่นของจิต
เห็นการกระเพื่อมของจิต
เห็นจิตที่บริสุทธิ์
เห็นจิตที่แข็งแกร่งแล้ว
ฝึกให้เห็นกาย คือรูป คือเวทนา คือสัญญา สังขาร วิญญาณ
คือ ธาตุ 4 – ดิน น้ำ ลม ไฟ
คือ อาการ 32
คือ สิ่งที่จะแตกดับไป

ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา
… เห็นเช่นนี้ อย่างชัดเจน

ลูกนั้น.. สามารถเห็นกิเลสที่กระเพื่อม เข้ามาทดสอบ
เห็นกิเลสที่ยังแอบบซ่อนอยู่ในตน ชำระขัดเกลาให้หมดไป
… จนอยู่เหนือกิเลส

เห็นกรรม.. ก็เลยชดใช้มันไป ตามกฎแห่งกรรม
รับผลตามกฎแห่งกรรม
แต่อยู่เหนือกรรมทั้งดี และไม่ดี – ที่ส่งผลมา

ทำกรรมอยู่ คือ การทำความดีอยู่
กรรมที่ดี – ก็ดำเนินอยู่
กรรมที่ไม่ดี – ก็เลิกทำ
— แต่ไม่ยึดติดในกรรมทั้งหลาย..
จิตอยู่เหนือทุกสรรพสิ่ง ++

เห็นจิต เห็นกาย เห็นกิเลส เห็นกรรม
ดำเนินตามหน้าที่ของแต่ละคน
และแยกทั้ง 4 อย่างนี้ – ออกจากกันได้
— จนจิตรู้ตื่น ตั้งมั่น – ไม่พัวพันอีก —

นี่ละพระพุทธเจ้าน้อยเอย..เมื่อลูกทั้งหลายฝึกฝนตน อยู่บนเส้นทางนี้
ประพฤติปฏิบัติให้พัฒนาขึ้น เป็นขั้นๆ ตามนี้

ลูกพิสูจน์ด้วยตัวของลูกเอง – ด้วยการปฏิบัติตาม
… จนเห็นผลตาม เกิดผลตาม…

ลูกก็จะ..
เป็นบุคคลผู้ชนะในเกมได้ อย่างแท้จริง ถาวร
เป็นผู้ออกจากเกมในวัฏสงสาร
เป็นผู้เข้าสู่พระนิพพาน เป็นแน่แท้

ชัยชนะ – ย่อมเป็นของลูก
ลูกย่อมเป็นบุคคลผู้สามารถที่จะอยู่เหนือกฎเกม กฎกรรมทั้งปวง เป็นอิสระ
อยู่อย่างผู้รู้ตื่น –
เหนือความอยู่ และไม่อยู่
เหนือความมี และไม่มี
ทรงสภาวะแห่งพระนิพพาน ตลอดไป…

เช่นนี้ละ พระพุทธเจ้าน้อยเอย..ลูกพอจะเข้าใจบ้างแล้วหรือยังเล่า
จงกล่าวธรรมนั้นมาเถิด.. ลูกเอ๋ย

+ +
พระพุทธเจ้าน้อย :: สาธุ พระพุทธเจ้าค่ะ
กราบขอบพระคุณในความเมตตาของพระพุทธองค์ นะเจ้าคะ

ลูก เมื่อได้สดับฟังธรรมอธิบายจากพระพุทธองค์แล้ว ลูกก็พอจะเข้าใจว่า..

การที่เรารู้กติกา รู้เกมของชีวิต
รู้ว่า การเล่นเกมชีวิต ต้องเล่นแบบไหน
และการที่เราจะชนะ — เราต้องดำเนิน ปฏิบัติตามคำสอนขององค์พระพุทธเจ้าอย่างไร

เราก็ควรที่จะเริ่มประพฤติปฏิบัติ — ด้วยการเอาตัวของเรา เอาจิตของเรา
… เข้าสู่การดำเนินอยู่บนเส้นทางแห่ง มรรค 8 — ด้วยศีล ธรรม สมาธิ และปัญญา
และทำให้ 4 ย่างก้าวนี้.. กระจ่างแจ้งกับเรายิ่งๆขึ้นไป…

จนจิตของเรานี้ ก่อเกิดความรู้ตื่น
จิตเห็นจิต
จิตจึงฝึกฝนให้ก่อเกิดความรู้ตื่น

เมื่อรู้ตื่นแล้ว..
ให้รู้ตัวตน รู้ที่ไปที่มาแห่งตน
ให้รู้จิต รู้กาย รู้กิเลส รู้กรรม

แยกสิ่งทั้งหลายเหล่านี้.. ออกจากกันได้
เราก็จะเป็นผู้ชนะในเกม +

ลูกพอจะเข้าใจ เช่นนี้ อย่างนี้แล้ว พระพุทธเจ้าค่ะ
ลูกจะตั้งใจประพฤติปฏิบัติตาม ให้เห็นผลเป็นขั้นๆ
— ตามที่พระองค์ทรงชี้ทางบอกทางในวันนี้ พระพุทธเจ้าค่ะ

กราบขอบพระคุณในความเมตตาของพระพุทธองค์ นะเจ้าคะ

พระพุทธองค์ :: ดีแล้วละ พระพุทธเจ้าน้อยเอย..
ลูกทั้งหลาย.. จงตั้งใจฝึกฝนเช่นนี้ และฝึกฝนต่อไปเถิด

เพราะบัดนี้นั้น ลูกหลายคน.. ก็สามารถที่จะฝึกฝนตามกรอบนี้
จนถึงซึ่งความสำเร็จเป็นขั้นๆมา
จนถึงฐานบารมีชั้นที่ 2
จนถึงการเห็นจิต เห็นกาย เห็นกิเลส เห็นกรรมแล้ว..

จงตั้งใจทำให้กระจ่างแจ้ง แข็งแกร่ง ตั้งมั่นเถอะ
ลูกจะเป็นผู้ชนะในเกม
ผู้ที่สามารถยืนยันถึงความพ้นทุกข์ — เมื่อดำเนินตามธรรมกึ่งพุทธกาล**
…ให้ดวงจิตอื่น ได้เห็นเป็นแบบอย่าง และประพฤติปฏิบัติตาม ++

ดีแล้วละ พระพุทธเจ้าน้อยเอย..จงตั้งใจฝึกฝนต่อยอดกันไปเถิด

+ +
พระพุทธเจ้าน้อย :: สาธุ พระพุทธเจ้าค่ะ
กราบขอบพระคุณในความเมตตาของพระพุทธองค์ นะเจ้าคะ
วันนี้ ลูกต้องกราบขอลาก่อน เอาไว้ลูกจะมาเฝ้าฟังธรรมใหม่ พระพุทธเจ้าค่ะ…

สาธุ